11/7/59

ประวัติหลวงปู่ผาง จิตฺตคุตฺโต



ประวัติหลวงปู่ผาง จิตฺตคุตฺโต วัดอุดมคงคาคีรีเขต ตำบลนางาม อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น

นามเดิมของท่านชื่อ ผาง ครองยุต เกิดในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๔๔๕ ตรงกับวันอังคาร ขึ้น ๒ ค่ำ เดือนเก้า ปีขาล ที่บ้านกุดกระเสียน ตำบลกุดกระเสียน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี
โยมบิดาชื่อ ทัน โยมมารดาชื่อ บับพา ครองยุต มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน ๓ คน คนแรกเป็นหญิงชื่อ บาง ซึ่งบวชเป็นชีอยู่ที่วัดอุดมคงคาคีรีเขต คนที่สองชื่อ คำแสน ส่วนตัวหลวงปู่เป็นคนสุดท้อง (บางแหล่งข้อมูลบอกว่าท่านเป็นบุตรคนที่สอง)
คุณตาชื่อ ศรีมงคล คุณยายชื่อ เหง้า สำหรับคุณตานั้น เคยเป็นกำนันตำบลเขื่องใน อำเภอเขื่องใน จังหวั
อุบลราชธานี ทั้งคุณตาและคุณยายมีบุตรธิดาสืบสกุลด้วยกัน ๓ คน คือ
๑ คุณแม่บัพพา (โยมมารดาของหลวงปู่)
๒. คุณแม่ล้อม
๓. คุณแม่จอม
เชื้อสายของท่านมักจะไม่ค่อยมีลูกมาก อย่างมากก็มีลูกเพียง ๒-๓ คน เท่านั้น
ครอบครัวของท่านยึดอาชีพเกษตรกรรม คือ ทำนา เลี้ยงสัตว์ ปลูกผัก ตามสภาพของท้องถิ่นในสมัยนั้นเป็นหลัก อาชีพอื่น เช่นค้าขาย เป็นต้นเป็นอาชีพรอง
การศึกษาทางโลกของหลวงปู่มีความรู้เพียงขั้นพออ่านออกเขียนได้ เนื่องจากในสมัยที่หลวงปู่ยังเยาว์วัยอยู่นั้น พระราชบัญญัติประถมศึกษา ยังมิได้ประกาศใช้ ผู้ประสงค์จะได้รับการศึกษาเล่าเรียน จะต้องขวนขวายเอาเอง โดยการฝากตัวเข้าเป็นศิษย์วัดกับพระภิกษุที่อ่านออกเขียนได้ แล้วให้ท่านสอน
หลวงปู่มีอุปนิสัยรักความเป็นธรรม ถือความสัตย์ พูดจริงทำจริง รักธรรมชาติ ชอบความสงบ เมตตาสัตว์มีแนวความคิดสร้างสรรค์ และชอบทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม
พ.ศ. ๒๔๖๕ บวชครั้งที่ ๑
ในปีพ.ศ. ๒๔๖๕ เมื่อหลวงปู่มีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาตามประเพณีลูกผู้ชายชาวไทย ในคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ณ วัดเขื่องกลาง บ้านเขื่องใน ตำบลเขื่องใน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีพระอุปัชฌาย์ดวน คุตฺตสีโล เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ดี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้ศึกษาพระธรรมวินัยมีความรู้พอสมควร ต่อมาเมื่อออกพรรษาจึงได้ลาสิกขาจากสมณเพศมาประกอบสัมมาอาชีพ
พ.ศ. ๒๔๖๘ แต่งงาน
ครั้นอายุได้ ๒๓ ปีก็ได้สมรสตามประเพณีกับนางสาวจันดี สายเสมา คนบ้านแดงหม้อ ตำบลแดงหม้อ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ได้ครองเรือนมาด้วยกันอย่างราบรื่น แต่ไม่มีบุตรสืบสกุล จึงได้ขอบุตรของญาติพี่น้องมาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมชื่อ นางบุญปราง ครองยุติ (บางแหล่งข้อมูลว่าชื่อ นางหนูพาน)
เมื่อครั้งยังอยู่ในเพศฆราวาส หลวงปู่เป็นคนขยัน เอาจริงเอาจังกับการงาน ได้ประกอบสัมมาอาชีพโดยช่วยบิดามารดาทำไร่ทำนา บางครั้งก็เป็นพ่อค้าเรือใหญ่ บรรทุกข้าวจากแม่น้ำมูลไปขายตามลำน้ำชีน้อย บางครั้งก็เป็นพ่อค้าวัว นำวัวไปขายที่เขมรต่ำ หลวงปู่ได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการสร้างฐานะให้แก่ครอบครัว
หลวงปู่ผางได้ใช้ชีวิตในเพศฆราวาสเป็นเวลานาน สามารถรอบรู้เหตุการณ์ที่ผ่านมา พิจารณาดูความเปลี่ยนแปลงของชีวิตและหมู่สัตว์ทั้งหลายบรรดามีในโลกเมื่อเกิดมาแล้วต่างก็สับสนวุ่นวายแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นเป็นที่เดือดร้อนไม่สุดสิ้น
หลวงปู่คงจะได้สั่งสมบุญบารมีมามาก ทำให้ท่านมองเห็นความไม่แน่นอน และความไม่มีแก่นสารในชีวิต ทำให้จิตใจของท่านโน้มเอียงไปในทางแห่งความสงบ ท่านได้ทำทานเป็นการใหญ่ โดยได้ให้เกวียน วัว บ้าน ไร่ นา แก่ผู้อื่นสละทุกสิ่งทุกอย่างจนหมดสิ้น (บางแหล่งข้อมูลว่า ยกทรัพย์สินให้บุตรบุญธรรม คือนางบุญปราง ครองยุติ ซึ่งขณะนั้นได้แต่งงานมีครอบครัวแล้ว)
พ.ศ. ๒๔๘๗ บวชครั้งที่ ๒
หลังจากที่หลวงปู่ในเพศฆราวาสได้บริจาคทาน วัว ควาย ไร่ นา บ้านเรือนให้แก่ผู้อื่นจนหมดสิ้นแล้ว ก็หมดห่วงและได้หันหน้าเข้าหาพระธรรม ดังนั้นประมาณปีพ.ศ. ๒๔๘๗ เมื่ออายุได้ราว ๔๒ ปี จึงได้ชวนนางจันดีผู้เป็นภรรยาออกบวช ภรรยาได้บวชเป็นแม่ชี ส่วนหลวงปู่ได้เข้าอุปสมบทในฝ่ายมหานิกาย ที่วัดคูขาด บ้านศรีสุข ตำบลเขื่องใน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีพระครูศรีสุตตาภรณ์ (สี หรือ ตื้อ พุทธสาโร) เป็นพระอุปัชฌาย์ ส่วนพระกรรมวาจาจารย์ และพระอนุสาวนาจารย์ไม่ปรากฏ ท่านได้รับฉายาจากพระอุปัชฌาย์ว่า "จิตฺตคุตฺโต" อันมีความหมายว่า ผู้คุ้มครองจิตดีแล้ว นับเป็นการบวชครั้งที่สองของหลวงปู่

ประวัติโดยสังเขปพระครูศรีสุตาภรณ์
หลวงพ่อพระครูศรีสุตาภรณ์ (สี หรือ ตื๋อ พุทธสาโร) มีนามเดิมว่า สี กำเนิดที่บ้านคูขาด ต.ศรีสุข อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี เมื่อวันพุธที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๔๓๗ (แรม ๑๔ ค่ำ เดือนอ้าย) บิดาชื่อนายโกร่น ทองไทย มารดาชื่อ นางวรรณา ทองไทย มีพี่น้องด้วยกันทั้งหมด ๖ คน หลวงปู่เป็นบุตรคนที่ ๔
บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ ๑๘ ปี ที่วัดบ้านคูขาด ๑ พรรษา แล้วลาสิกขาบท
เมื่ออายุ ๑๙ ปี ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร ๒ ปี
พ.ศ. ๒๔๕๘ อายุ ๒๑ ปี ได้อุปสมบทที่วัดบ้านคูขาด
พ.ศ. ๒๔๕๘-๒๔๖๐ พรรษาที่ ๑ ถึง ๓ จำพรรษาที่วัดธาตุเทิง
พ.ศ. ๒๔๖๑ พรรษาที่ ๔ จำพรรษาที่วัดบ้านแวง สำนักพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
พ.ศ. ๒๔๖๒ พรรษาที่ ๕ จำพรรษาที่วัดภูผากูด ถ้ำคูหาวิเวก สำนักพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล
พ.ศ. ๒๔๖๓ พรรษาที่ ๖ เป็นไข้ป่า กลับมารักษาตัว และจำพรรษาที่วัดบ้านคูขาด
พ.ศ. ๒๔๖๔ พรรษาที่ ๗ ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จำพรรษาที่วัดยม บางปะอิน
พ.ศ. ๒๔๖๕ พรรษาที่ ๘ จำพรรษาที่วัดบ้านคูขาด รักษาการตำแหน่งเจ้าอาวาสเรื่อยมา
พ.ศ. ๒๔๗๕ พรรษาที่ ๑๗ ได้รับตำแหน่งพระอุปัชฌาย์ ในสองเขตตำบล คือตำบลศรีสุข และตำบลยางขี้นก
พ.ศ. ๒๔๘๔ พรรษาที่ ๒๖ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูชั้นประทวนที่ “พระครูศรีสุตาภรณ์”
พ.ศ. ๒๔๙๕ พรรษาที่ ๓๗ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านคูขาด
พ.ศ. ๒๔๙๙ พรรษาที่ ๔๑ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นสัญญาบัตร ในตำแหน่ง “พระครูศรีสุตตาภรณ์”
ท่านเป็นผู้นำชาวบ้านในการพัฒนาวัด ชุมชน ตัดถนน และสร้างโรงเรียนประชาบาล ๔ โรง ได้แก่โรงเรียนบ้านคูขาด (ศรีวิทยาคาร) , โรงเรียนบ้านโพนเมือง (สุขวิทยา) , โรงเรียนบ้านคำสมอ , โรงเรียนบ้านหนองเหล่า
พ.ศ. ๒๕๒๐ พรรษาที่ ๖๒ วันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ.๒๕๑๙ เวลา ๑๕.๓๕ น. ท่านได้ละสังขารด้วยอาการสงบ สิริอายุ ๘๒ ปี ๖๒ พรรษา
ตามประวัติของพระครูศรีสุตตาภรณ์ (สี หรือ ตื้อ พุทธสาโร) ที่พิมพ์แจกเป็นที่ระลึกในงานพิธีฌาปนกิจศพของท่าน เมื่อวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๒๐ นั้น ได้ระบุว่า ท่านพระครูศรีฯ ได้เคยไปศึกษาปฏิบัติทางฝ่ายวิปัสสนาธุระ ในสำนักพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตมหาเถระ ณ สำนักวัดบ้านแวง อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ในปีพ.ศ. ๒๔๖๑ และในพรรษาต่อมา ท่านได้ไปศึกษาปฏิบัติฝ่ายวิปัสสนาธุระ กับพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลมหาเถระ ซึ่งขณะนั้นจำพรรษาอยู่ที่วัดภูผากูด ถ้ำคูหาวิเวก จังหวัดสกลนคร แต่ในพรรษาถัดมาท่านเกิดอาพาธด้วยโรคไข้ป่า จึงกลับมารักษาตัวและจำพรรษาที่วัดบ้านคูขาด
ซึ่งแสดงว่าท่านพระครูศรีสุตตาภรณ์ นั้นเป็นศิษย์ยุคต้นๆ สายมหานิกาย ของท่านพระอาจารย์เสาร์และพระอาจารย์มั่น ดังนั้นเมื่อท่านได้ทำการอุปสมบทให้กับพระภิกษุผางแล้ว ท่านก็อยากจะให้พระภิกษุผางได้เข้าศึกษาและปฏิบัติพระกรรมฐานตามแบบอย่างที่ท่านได้ศึกษาและปฏิบัติอยู่กับพระอาจารย์เสาร์ และ พระอาจารย์มั่นในครั้งก่อน
แต่ท่านก็ทราบดีว่าการจะเข้าศึกษาและปฏิบัติธรรมกับท่านพระอาจารย์มั่นนั้น ไม่ใช่นึกอยากจะเข้าไปกราบขอถวายตัวเข้าเป็นศิษย์นั้นก็จะทำได้ตามใจชอบ เพราะท่านพระอาจารย์มั่นท่านเคร่งครัดเรื่องการคัดเลือกศิษย์เป็นอย่างยิ่ง ผู้ที่ประสงค์จะเข้าเป็นศิษย์ของท่าน ก็ต้องมีการเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อมเป็นอย่างดีเสียก่อน
ในพรรษาแรกของหลวงปู่ผางท่านจำพรรษาที่วัดคูขาด โดยท่านพระครูศรีสุตตาภรณ์ได้อบรมสั่งสอนการปฏิบัติธรรมตามแนวทางของท่านพระอาจารย์มั่นเป็นเบื้องต้น
ประจวบเหมาะกับในปีนั้น สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) ท่านพำนักอยู่ที่จังหวัดอุบล เกิดอาพาธหนัก ถึงขนาดฉันอาหารไม่ได้ ต้องถวายอาหารทางเส้นเลือด ท่านจึงเรียกพระเถระฝ่ายกัมมัฏฐานเข้าไปปรึกษาหารือเพื่อหาทางบำบัดโรคในทางธรรมปฏิบัติ พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ซึ่งเป็นสัทธิวิหาริกอันดับ ๒ ของสมเด็จฯ จึงได้มาอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานีเพื่ออุปัฏฐากสมเด็จฯ โดยได้พำนักอยู่ที่วัดป่าแสนสำราญ อำเภอวารินชำราบ ปีนั้นเป็นปีเดียวกับที่พระมหาปิ่น ปญฺญาพโล น้องชายของท่านซึ่งได้ไปเผยแพร่พระพุทธศาสนา ที่จังหวัดปราจีนบุรีอยู่ ๕ พรรษา ได้กลับมาจังหวัดอุบลฯ เนื่องจากอาพาธด้วยโรคปอด รักษาไม่ทุเลา จึงเดินทางกลับมายังบ้านเกิด
พ.ศ. ๒๔๘๗ ไปศึกษาและปฏิบัติธรรม
กับพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม
เมื่อพระครูศรีสุตตาภรณ์ (สี หรือ ตื้อ พุทธสาโร) ได้พิจารณาดังนั้นแล้ว เมื่อออกพรรษาปี พ.ศ. ๒๔๘๗ จึงได้แนะนำให้พระภิกษุผางไปศึกษาและปฏิบัติธรรม กับพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม (เจ้าคุณพระญาณวิศิษฏ์สมิทธีราจารย์) และพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล วัดป่าแสนสำราญ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นวัดธรรมยุติกนิกาย
พ.ศ. ๒๔๘๘ ญัตติเป็นธรรมยุต
เมื่อท่านพระอาจารย์สิงห์ได้รับพระภิกษุผางไว้ในสำนักแล้ว ท่านก็เห็นว่าเพื่อความสะดวกในการที่พระภิกษุผางซึ่งเป็นพระมหานิกาย จะประกอบสังฆกรรมกับหมู่คณะจึงดำเนินการให้พระภิกษุผางญัตติเป็นธรรมยุต ในวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๘ ณ วัดทุ่งสว่าง บ้านโนนใหญ่ ตำบลก่อเอ้ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี พระครูพินิจศีลคุณ (พระมหาอ่อน) เจ้าคณะอำเภอเขื่องใน เป็นพระอุปัชฌาย์ พระมหาทราย เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระมหาจันทร์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์
เมื่อหลวงปู่ผางได้รับการญัตติเป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุติกนิกายแล้ว ท่านก็เข้ารับการอบรมพระกรรมฐานอยู่ในสำนักท่านพระอาจารย์สิงห์ ต่อไป
ต่อมาพระมหาปิ่น ที่ได้อาพาธด้วยโรคปอด เมื่อกลับจากจังหวัดปราจีนบุรี มาอยู่ที่อุบลฯ รักษาอยู่ ๒ พรรษา ไม่หายและได้ถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๙ เมื่อจัดการงานศพพระมหาปิ่นเสร็จเรียบร้อยแล้ว ท่านพระอาจารย์สิงห์ก็กลับไปจำพรรษาที่วัดป่าสาลวัน จังหวัดนครราชสีมา
ก่อนที่ท่านพระอาจารย์สิงห์จะออกจากวัดป่าแสนสำราญ ไปจำพรรษาที่วัดป่าสาลวัน จังหวัดนครราชสีมาที่ท่านสร้างขึ้นนั้น ท่านได้แนะนำให้พระภิกษุผางไปศึกษาและปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่มั่น ภูริทัตโตซึ่งเป็นอาจารย์ของท่าน ดังนั้นพระภิกษุผาง จึงประสงค์จะไปรับโอวาทธรรมจากท่านพระอาจารย์ใหญ่ ซึ่งขณะนั้น พำนักอยู่ ณ เสนาสนะป่าบ้านหนองผือ (ปัจจุบันคือ "วัดป่าภูริทัตตถิราวาส" อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร)
พ.ศ. ๒๔๘๙ ธุดงค์ไปหาท่านพระอาจารย์มั่น
หลวงปู่จึงธุดงค์จากจังหวัดอุบลราชธานีเลียบฝั่งแม่น้ำโขง ขึ้นไปทางจังหวัดมุกดาหารและนครพนม แวะกราบนมัสการพระธาตุพนม และจาริกไปยังจังหวัดสกลนคร โดยการเดินเท้าตลอดเส้นทาง หากพบสถานที่แห่งใดเหมาะสมแก่การภาวนา และมีหมู่บ้านที่จะบิณฑบาตได้อยู่ไม่ไกลนัก ท่านก็จะพักสักระยะ แล้วเดินทางต่อไป จนกระทั่งมาถึงภูผาซาง
หลวงปู่หลงทางอยู่ที่นี่เป็นเวลาหลายวัน จนไม่ได้ฉันอาหารใดๆ เลย ร่างกายจึงเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าเต็มที ทว่าท่านไม่เคยย่อท้อมีแต่ความมุ่งมั่นที่จะไปฟังธรรมจากพระอาจารย์ใหญ่ให้ได้ ไม่ว่าจะยากลำบากเพียงใดก็ตาม
“ก็อาศัยแต่ฉันน้ำในกา ไม่ใช่ฉันจนอิ่ม คือจิบเอาทีละน้อยๆ อดอาหารหลายๆ วันก็เคยอดมาแล้ว กลัวทำไม ยิ่งอดยิ่งภาวนาดี”
จิตใจจึงมีความอิ่มเอิบ ปีติในธรรมเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง มีความเบิกบานตลอดเวลา แต่เมื่อนานวันเข้าน้ำในกาก็หมดไป
“เอ้า! น้ำหมดแล้วจะทำยังไงดี เดินแวะขึ้นป่าลงหุบเขาตรงไหนที่พอจะมีน้ำบ้าง น้ำสักหยดก็ไม่มี ล้าก็ล้า เหนื่อยก็เหนื่อย หิวน้ำก็หิว ฉันน้ำปัสสาวะตัวเองนี่แหละ”
เมื่อหลงป่าอยู่นานหลายวัน ต่อมาแม้แต่น้ำปัสสาวะก็ไม่มีให้ฉัน ร่างกายของท่านขาดน้ำและอ่อนเพลีย ต้องแบกบริขารทั้งบาตร กลดและกาน้ำ
“ร่างกายยามนี้ ถือหรือแบกอะไรมันช่างหนักไปหมด ตายแน่ๆ ตายอยู่กลางป่านี้แน่ๆ เราทอดอาลัยตายอยาก ตายก็ตาย จะตายทั้งทีอย่าให้ร่างกายเน่าทิ้งเสียเปล่า ปักกลดนั่งภาวนากลางทางเสือทางช้างป่าผ่านนี่แหละ”
ทอดอาลัย ... ภาวนา ตายๆ ๆ สู้
ในยามพลบค่ำของคืนเดือนหงาย ท่านจึงได้ปักกลดภาวนา ณ สถานที่อันเหมาะสม กลางดึกคืนนั้นเอง หลังจากไหว้พระสวดมนต์แผ่เมตตาแล้วก็ภาวนาอยู่ในกลด ด้วยคิดว่าตนเองคงจะต้องตายในคราวนี้แน่นอนแล้ว จึงรำพึงในใจว่า
“คราวนี้เป็นคราวที่เราจนตรอกจนมุมแล้ว หลงทางอยู่กลางป่ากลางดงคนเดียว ไม่มีใครมาช่วย คงต้องเอาชีวิตมาทิ้งกลางป่านี้แน่ๆ ได้ยินว่าในป่าเขามีเทวบุตรเทวดาอยู่มาก ทำไมไม่เห็นมาช่วยบ้าง ไม่สงสารพระธุดงค์ผู้หลงทางหลงป่าบ้างหรือ บุญกุศลเราคงหมดแค่นี้ เอาละตายก็ตาย คิดก็ตายไม่คิดก็ตาย คิดไปให้มากเรื่องทำไม นั่งภาวนาสละตายที่ตรงนี้แหละ”
คิดได้ดังนั้นแล้วท่านจึงภาวนาโดยนึกถึงความตายเป็นอารมณ์จนจิตสงบตั้งมั่น เป็นเวลานานเท่าไหร่ก็ไม่ทราบได้ จนกระทั่งได้ยินเสียงสัตว์ชนิดหนึ่งกระโจนมาชนกลดดังโครมครามๆ ถึงสามครั้ง จนกลดแทบจะพัง เมื่อเปิดกลดออกมาก็พบกับเสือโคร่งลายพาดกลอนตัวใหญ่ ยืนจังก้าจ้องหน้าท่านแบบจะกินเลือดกินเนื้อ
เสือยืนอยู่ห่างไปประมาณ ๓-๔ วา จึงมองเห็นกันได้อย่างชัดเจนเพราะเป็นคืนเดือนเพ็ญ แม้จะเผชิญกับสถานการณ์วิกฤต แต่ท่านกลับมีจิตใจห้าวหาญ ไม่เกรงกลัว
“ดีล่ะ ไหนๆ ก็จะถึงที่ตายอยู่แล้ว จะตายทั้งที ร่างกายนี้จะได้ไม่ต้องเน่าเปื่อยผุพังไปเปล่า มีผู้มาเก็บซากศพให้ก็ดีแล้ว เราจะเดินเข้าไปให้เสือกินทั้งบริขารนี่แหละ”
ว่าแล้วท่านก็เดินเข้าไปหาเสือตัวนั้น โดยมิได้สะทกสะท้านต่อความตายใดๆ
“ฮีบมากินมา เฮามาให้กินแล้ว กินให้หมดเด้อ อย่าให้เหลือซาก มันสิเหน่าเหม็นถิ่มซื่อๆ”
(รีบมากินสิ เรามาให้กินแล้ว กินให้หมดนะอย่าให้เหลือซาก มันจะเน่าเหม็นทิ้งเปล่าๆ)
หลวงปู่พูดไปแล้วก็เดินเข้าไปหาเสือไปเรื่อยๆ แต่เจ้าเสือกลับถอยหลังกรูด มันหันหลังให้แล้ววิ่งไปข้างหน้า แล้วหันกลับมาจ้องมองอีก ท่านเดินตามไปจะให้มันกิน เสือวิ่งไปข้างหน้าเรื่อยๆ ท่านก็เดินตามไปเรื่อยๆ เป็นอย่างนี้อยู่จนสว่าง เสือตัวนี้ก็หนีเข้าป่าไป
“เอ้า! สิมาส่งกันกะบ่บอก ถ้าบ่กินกะฟ่าวเข้าดงเข้าป่าไป เดี๋ยวนายพรานสิมาเห็น เขาจะยิงเอา ให้อยู่เป็นสุขๆ เด้อ”
(อ้อ จะมาส่งกันก็ไม่บอก ถ้าไม่กินเราก็รีบหนีเข้าไปเสีย เดี๋ยวนายพรานมาเห็น เขาจะยิงเอา ให้เป็นสุขๆ เถิด)
ปรากฏว่าการที่ท่านเดินตามเสือเพื่อจะให้มันกินอยู่จนสว่าง ทำให้ออกจากป่ามาจนถึงไร่ของชาวบ้าน หลวงปู่จึงบิณฑบาตได้อาหารมาฉัน ไม่ต้องเอาชีวิตไปทิ้งในป่าแห่งนี้
ภาวนาปฏิบัติธรรมในถ้ำลึกที่ผาเสด็จ
จากนั้นท่านได้ธุดงค์ต่อมาจนถึงดงพระยาเย็น ผาเสด็จ (ภูพระบาท ตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี) ไปนั่งภาวนาอยู่ในถ้ำลึกถึง ๘ วัน ๘ คืน
ก่อนจะเข้าไปนั่งภาวนาในถ้ำนี้ ชาวบ้านที่ทำไร่อยู่ในในถิ่นนั้นได้ห้ามไม่ให้ท่านลงไปนั่งในถ้ำลึก เพราะอากาศในถ้ำนั้นเย็นจัด เขาบอกว่า ๗ วันก่อน มีพระธุดงค์รูปหนึ่งมาพักและได้มรณภาพในถ้ำนั้น เมื่อท่านได้ฟังเขาเล่าดังนั้นแล้วก็ยังยืนยันแก่เขาว่า จะต้องลงภาวนาให้ได้ จึงเตรียมตัวเข้าไปในถ้ำ
เมื่อเข้าไปพักในถ้ำท่านพบว่าอากาศหนาวมาก เย็นจัดดังคำบอกเล่า หลวงปู่ผางนั่งพำเพ็ญเพียรภาวนาอยู่ได้ ๔ วัน ก็เกิดเป็นไข้ ท่านเล่าว่าคงจะเป็นเหมือนดังที่คุณโยมคนนั้นบอกไว้ พยายามนั่งภาวนาไปจนครบ ๗ วัน ไข้ก็ยิ่งจับหนัก พอครบวันที่ ๘ มีอาการอ่อนเพลียมาก แต่ก็ยังคงออกไปเที่ยวบิณฑบาตได้มะละกอสุกมาลูกหนึ่ง นึกอยากจะฉันมะละกอสุกลูกนั้น จึงฉันจนหมด ในใจตอนนั้นท่านว่าจะเป็นตายร้ายดีอะไรก็ตาม ก็ให้แล้วแต่บุญแต่กรรม
หลังจากฉันมะละกอสุกไปแล้วไม่นาน ท่านก็ปวดท้องถ่ายหนัก เมื่อถ่ายแล้วท่านก็รู้สึกว่าอาการไข้ได้หายไป มีเรี่ยวแรงพลกำลังเกิดขึ้น ท่านได้พักอยู่ที่นั่นเป็นเวลาหลายวัน
จากนั้นมุ่งหน้าเดินธุดงค์ไปทางจังหวัดเลยไปนั่งภาวนาตามถ้ำภูเขาหลายแห่ง เช่น ถ้ำผาปู่ ภูกระดึง เป็นต้น
สมัยนั้นที่ภูกระดึงผู้คนยังไม่มีมาก ท่านไปพักภาวนาอยู่ระหว่างกึ่งกลางทางขึ้นภูกระดึงในปัจจุบัน
ในสมัยนั้น หมู่บ้านศรีฐานซึ่งเป็นหมู่บ้านตั้งอยู่ปากทางขึ้นภูกระดึง มีชาวบ้านอยู่ไม่กี่หลังคาเรือน การโคจรบิณฑบาตลำบากมาก อากาศหนาวจัด สัตว์ป่าต่างๆ มีมากเยอะแยะเช่น เสือ ช้าง เป็นต้น เมื่อหลวงปู่ลงจากภูกระดึงเพื่อออกไปบิณฑบาตยังบ้านศรีฐาน บางครั้งเคยไปเจอเสือรอยเท้าใหญ่ขนาดคืบกว่า มันนั่งอยู่ระหว่างทางช่องแคบ
ท่านได้พูดกับมันบอกว่า "ขอผ่านทางไปด้วยเถอะพยัคฆะเอ๋ย หลวงพ่อจะไปบิณฑบาตมาฉัน อย่ามานั่งกีดกันหนทางเลย"
ไม่นานเจ้าพยัคฆ์ก็ลุกหนีไป แล้วไม่เคยจะกลับมาให้เห็นอีกเลย
อีกครั้งหนึ่งที่บริเวณนี้แหละ หลวงปู่นั่งภาวนามาหลายวัน รู้สึกว่าอ่อนเพลีย เจ็บปวดตามร่างกายมาก นึกอยากจะเปลี่ยนสถานที่ใหม่ จึงเดินไปตามชายเขา
ท่านบอกว่า เมื่อเดินไปถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง เป็นเวลาบ่าย ๓ โมงเศษ ท่านไปนั่งพักอยู่ใกล้หนทาง เห็นชาวบ้านเขาเดินทางผ่านมา ก็เลยถามเขาว่า "หมู่บ้านนี้มีคนชื่อเฒ่าเสือไหม ? " ทั้งๆ ที่ท่านไม่รู้จักเฒ่าเสือนั้นเลย
ชาวบ้านก็บอกว่า มี
อันว่าเฒ่าเสือนั้น เป็นนายพรานที่ชำนาญป่าแถบนั้นมาก เป็นผู้ที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ หลวงปู่จึงบอกชาวบ้านว่า เมื่อกลับเข้าไปในหมู่บ้านแล้ว ช่วยบอกพ่อเฒ่าเสือให้มาหาท่านด้วย ชาวบ้านก็เมื่อกลับถึงหมู่บ้านแล้วก็รีบไปบอกพ่อเสือ
พ่อเสือก็ได้ออกมาพบหลวงปู่ พอมาถึง ท่านก็ถามว่า
“เจ้าชื่อเฒ่าเสือ แม่นบ่” (ใช่ไหม)
เฒ่าเสือตอบว่า แม่น ข่อยนี่หละชื่อเฒ่าเสือ
หลวงปู่จึงบอกเฒ่าเสือว่า
"เอ้อเฒ่าเสือเอย ไปหอบเฟือง (ฟาง) มาให้จักมัดใหญ่ๆ แหน่"
แล้วพ่อเฒ่าเสือก็ไปหาฟางมา โดยเอาผ้าขาวม้ารัดมาถวายหนึ่งมัด
หลังจากที่เฒ่าเสือถวายฟางมัดหนึ่งแก่หลวงปู่แล้ว ท่านก็บอกเฒ่าเสืออีกว่า
"ช่วยหาที่พักให้จักบ่อนแหน่ บ่อนได๋ สิดี"
เฒ่าเสือนั้น แกเป็นนายพรานสันดานดื้อยังมีอยู่ อยากรู้ว่าหลวงพ่อนี้จะดีเด่นแค่ไหน ถ้าไม่แน่ก็จะให้เสือมันจัดการเป็นอาหารในคืนนั้น พ่อเฒ่าเสือก็ยกมัดฟางขึ้นพาดบ่า เดินนำหน้าหลวงพ่อไป เดินทางไปตามซอกเขาประมาณหนึ่งชั่วโมง ก็มาถึงที่แห่งหนึ่งซึ่งเป็นช่องแคบ กว้างพอกางกลดได้เท่านั้นพ่อเฒ่าก็วางมัดฟางลง
ห่างจากที่นี้ไปประมาณ ๒ เส้น มีแอ่งน้ำเป็นหลุมขนาดพอลงนอนได้ มีน้ำ หลุมนี้เป็นที่สัตว์ป่าทั้งที่ดุร้ายและไม่ดุร้ายลงมากินน้ำเป็นประจำทุกวัน
พ่อเฒ่าปูฟางจัดที่ถวายแล้วก็ลากลับ
หลวงพ่อก็เริ่มกางกลดทันที เพราะพลบค่ำใกล้จะมืดแล้ว พลางก็นึกว่า
“คืนนี้อีกละน้อคงจะพ้ออีหยังจักอย่าง บ่อฮู้ว่าจะแม่นหยังแน่นอน”
ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร มโนภาพมันจึงคิดไปอย่างนั้น เมื่อกางกลดเสร็จท่านก็เข้าไปในกลด นั่งสวดมนต์ไหว้พระภาวนาเข้าสมาธิ จนถึงเวลาทุ่มเศษๆ ก็นึกจะจำวัดพักผ่อนในคืนนี้ เพราะรู้สึกว่าเหน็ดเหนื่อยมาก พอเอนกายลงครู่เดียวกำลังจะงีบหลับไป ก็มีเสียงมาเตือนว่า
" ระวังเน้อ ระวังแลงบุ้งกิ้งกือใหญ่ "
ท่านก็ผวาตื่นขึ้นมาทันที นึกอยู่ว่า อะไรน้อ สัตว์ชื่อนี้ ความหวาดเสียวสะดุ้งกลัวขวัญหนีดีฝ่อก็บังเกิดขึ้นตามปกติวิสัยของมนุษย์ทั่วๆ ไป ท่านก็เลยจำวัดไม่ได้
"เอาละจะเป็นอย่างไรคืนนี้กูต้องผจญภัย จะเป็นตายอย่างไรแล้วแต่เทวดาฟ้าดินพระอินทร์ พระพรหม จะกรุณา"
แล้วท่านก็นั่งภาวนาไป ชั่วครู่ก็ได้ยินเสียงดังมาจากฟางที่ปูพื้นบริเวณนอกกลด ดังควั๋กค๊าก เหมือนเสียงตัวปลวกกินฟาง
ท่านก็เลยหยุดภาวนา แล้วใช้มือลูบจับผ้ามุ้งกลดรอบๆ ตัว
ก็เลยไปเจอแมลงบุ้งกิ้งกือใหญ่มหึมา ม้วนวงรอบมุ้งกลด ค่อยๆ ขยับเข้ามาเรื่อยๆ เหมือนจะรวบรัดตัวท่าน หลวงปึ่งตกลงตัดสินใจเปิดมุ้งดู ก็เห็นตัวงูใหญ่ลวดลายสีสันเหมือนงูทำทาน ขณะนั้นไม่สามารถจะรู้ได้ว่า ข้างไหนเป็นหัวข้างไหนเป็นหาง เมื่อเห็นดังนั้น ทีแรกท่านนึกว่าจะเปิดมุ้งกระโดดข้ามมันวิ่งหนีไป แต่กลับได้สติคืนมาและนึกถึงคำสั่งสอน ของครูบาอาจารย์ที่ท่านสั่งว่า
“ถ้ากลัวผีให้เข้าไปอยู่ที่ป่าช้า ถ้ากลัวช้าง เสือ งู สัตว์ดุร้าย ให้เข้าไปอยู่ใกล้สัตว์เหล่านั้น”
พอคิดได้แล้วก็ตกลงใจ นั่งสวดมนต์ภาวนาทำจิตใจให้เป็นสมาธิตั้งมั่น...
จนกระทั่งไก่ป่าเริ่มขัน เสียงชะนีกู่ร้องก้องไพร วันใหม่ก็มาถึง แสงสว่างเจิดจ้า
หลวงปู่ตื่นขึ้นมาก็ไม่เห็นมีอะไร จิตใจก็สบาย จนได้อรุณ ก็ออกบิณฑบาตได้ภัตตาหารพอควรแล้ว ก็กลับคืนที่พัก
วันนั้นพ่อเฒ่าเสือพร้อมด้วยลูกหลานชาวบ้าน ก็นำอาหารออกไปถวาย
พอได้โอกาสจึงถามขึ้นว่า
“เป็นจั่งได๋หลวงพ่อ คืนนี้ มีหยังมารบกวนบ่”
หลวงพ่อจึงตอบว่า
“บ่มีหยังนา นอกจากสัตว์ต่างๆ พากันลงมากินน้ำเท่านั้น”
พ่อเฒ่าเสือก็เกิดอัศจรรย์ใจยิ่งนัก เพราะสถานที่นั้นมีอาถรรพณ์มาก แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น หลวงพ่อพักอยู่คืนต่อมาก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นอีก ท่านพักอยู่ที่นั่นพอสมควรแล้วก็ออกธุดงค์ต่อไปอีก
จนพบท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ณ เสนาสนะป่าบ้านผือ ในที่สุด (น่าจะเป็นช่วงก่อนเข้าพรรษาปีพ.ศ. ๒๔๘๙)
พ.ศ. ๒๔๘๙ ได้พบท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ